ชวนอ่าน Fun Fact สนุก ๆ เกี่ยวกับการทำงานของสมอง ที่อ่านแล้วจะช่วยให้เราเข้าใจว่าสมองทำงานอย่างไร เมื่อเราเข้าใจการทำงานของสมองแล้ว เราก็จะสามารถใช้งานมันได้ดีขึ้น !!!
การกินอาหารที่มีประโยชน์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยทำให้สมองเจริญเติบโต เพราะสมองของคนเรายังต้องการออกซิเจนในอากาศ ประสบการณ์ต่าง ๆ และกิจกรรมกระตุ้น ถ้ามีกิจกรรมกระตุ้นเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้สมองเจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ
หลายคนมักเข้าใจว่าเมื่ออายุมากขึึ้นสมองก็จะเริ่มเสื่อมถอยลง ความจริงคือเซลล์สมองจะมีจำนวนมากที่สุดในช่วงอายุ 1 ปีแรกและจะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น แต่สารสำคัญในการเสริมสร้างร่างกายอย่างกรดอะมิโนในสมองกลับมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแม้ว่าเซลล์สมองจะลดลง แต่ตราบใดที่สมองยังได้รับสารอาหารและการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง สมองก็จะเจริญเติบโตต่อไปไม่หยุดจนกว่าเราจะเสียชีวิตนั่นเอง
สมองส่วนหลังที่เป็น ‘อารมณ์’ และ ‘พฤติกรรม’ ของคนเรามีขนาดใหญ่กว่าสมองส่วนหน้าที่เป็น ‘เหตุผล’ ทำให้การใช้เหตุผลกับอารมณ์มักสวนทางกันอยู่บ่อย ๆ ซึ่งสอดคล้องกับคำที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์แห่งอารมณ์
สมองส่วนอารมณ์และเหตุผลทำงานเหมือนไม้กระดก คือเมื่อเรามีเหตุผล เราจะไม่ค่อยมีอารมณ์ ในทางกลับกันเมื่อเรามีอารมณ์ เราก็จะไม่ค่อยมีเหตุผล สาเหตุเป็นเพราะสมองต้องตัดสินใจเลือกอย่างเสียอย่างระหว่างสองสิ่งนี้นั่นเอง
หลายคนอาจคิดว่าถ้าเรานั่งเหม่อลอยหรือไม่คิดอะไรเลยจะทำให้สมองว่างเปล่า แต่ความจริงแล้วสมองต้องบังคับตัวเองให้หยุดทำงานเพื่อแบ่งเวลามาคิดเหม่อลอยไปกับเราต่างหาก
สมองของคนเราไม่สามารถคิดหลายอย่างได้พร้อมกัน เพราะการคิดมากกว่าหนึ่งเรื่องในเวลาเดียวกัน จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงและอาจเกิดความผิดพลาดมากขึ้น ใครที่ชอบทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน แนะนำให้แบ่งเวลาทำเป็นเรื่อง ๆ แล้วจะทำได้ดีกว่า
โดยปกติแล้วการทำงานของสมองจะเน้นเร็วและหยาบ คือสมองมีความสามารถต่ำในการจดจำสิ่งต่าง ๆ ให้ครบสมบูรณ์ แต่มันเอาตัวรอดด้วยการปะติดปะต่อเรื่องราวของมันเองในชีวิตประจำวัน ถ้าอยากจำเรื่องอะไรให้แม่น ๆ แนะนำให้จดบันทึกเก็บไว้
ความจริงแล้วคนเราไม่ได้ ‘คิดก่อนทำ’ เสมอไป เพราะสมองมีส่วนหนึ่งที่เรียกว่า Thalamus ซึ่งมีหน้าที่รับสัญญาณรีเลย์ข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ของระบบประสาทในร่างกาย เช่น ปากที่คาบดินสออยู่อาจบอกสมองว่าเรากำลังยิ้ม หรือคิ้วที่กำลังขมวดอาจสื่อสารว่านี่คือความเครียด เป็นต้น
ฮอร์โมนในร่างกายของคนเราคือสิ่งที่ทำให้สมองว้าวุ่น เช่น ฮอร์โมน Dopamine ทำให้สมองกระฉับกระเฉงซึ่งเกิดจากคำชม การรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า และการได้ทำตามสิ่งที่ตัวเองอยากทำ หรือฮอร์โมน Endorphin และ Oxytocin ฮอร์โมนแห่งความสุขที่จะหลั่งออกมาเมื่อเราได้รับความรัก รู้สึกสนุก มีความสุข โดยเราควรระวังฮอร์โมน Cortisol ที่เกี่ยวพันกับความเครียด เพราะมันอาจส่งผลให้สมองเกิดอาการ overload จนทำให้สมองทำงานไม่ได้
สมองให้น้ำหนักความกลัวมากกว่าความหวัง คนเราจึงมักจดจำและมีอารมณ์ร่วมกับข้อผิดพลาดหรือคำตำหนิมากกว่าคำชมเชยประมาณ 5 เท่า หากใครด่าเราหนึ่งครั้ง เขาต้องชมเราห้าครั้ง ความรู้สึกของเราจึงจะกลับไปอยู่ที่เดิม
ความรู้สึกกลัวและความรู้สึกกดดันจะส่งผลให้สมองของเราเครียด และอาจทำให้หยุดคิดสร้างสรรค์ หรือไม่กล้าเปลี่ยนแปลงลงมือทำอะไรใหม่ ๆ แต่จะเน้นทำเพื่อมุ่งเอาตัวเองรอดเป็นหลัก
เวลาคิดสร้างสรรค์ สมองคนเราจะต้องการสมาธิและความสงบ สิ่งที่ตรงกันข้ามคือความกดดัน ความกลัว และสิ่งรบกวน ทริคในการเพิ่มพลังความคิดสร้างสรรค์คือ ให้เวลาความคิดได้ตกผลึก ค่อย ๆ คิด และฟังความคิดอย่างเปิดใจ ให้สมองได้ลองผิดลองถูก และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เรามีสมาธิมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วย
สิ่งแวดล้อมมีผลต่อสมองของคนเรามาก หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าการชมจะส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรม เช่น เด็กที่ถูกชมว่าเก่งบ่อย ๆ อาจขาดความพยายามและความกล้าที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ และจะมองความล้มเหลวว่าเป็นสิ่งที่ควรเลี่ยง ในทางกลับกันเด็กที่ได้รับคำชมบนความพยายามหรือความขยัน จะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่น่าทดลอง สนุกกับการเรียนรู้ และมีความคิดสร้างสรรค์นอกกรอบมากกว่า หากอยากจะเปลี่ยนพฤติกรรมใคร เราสามารถเริ่มได้ด้วยการให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของเขา อาจเริ่มจากการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีก็จะช่วยให้มองเห็นวิกฤตเป็นโอกาสได้
แหล่งข้อมูล
– American Society of Training and Development (ASTD) Conference
– Toshinori Kato. (2562). ฝึกสมองให้จำได้ไม่ลืม. แปลจาก ICHIIDO OBOETARA ZETTAINI WASURENAI NONI NARU SAIKYO NO HOSOKU 39. แปลโดยอังคณา รัตนจันทร์ กรุงเทพฯ: อินสปายร์
– ดร.ธัญ ธำรงนาวาสวัสดิ์. (2556). สมองตัดสินด้วยหัวใจ. กรุงเทพฯ: กรุงเทพธุรกิจ